“วันนี้น้ำมันขึ้นราคา อะไรขึ้นราคา แต่ว่าผมชอบมากๆ” คือวลีโตๆจากปาก “ตัน โออิชิ” - ตัน ภาสกรนที ประธานบริหารโออิชิกรุ๊ป ในวันที่ไปพูดให้ลูกค้าแบงก์กสิกรไทยฟัง เมื่อเร็วๆ นี้
วันนั้น บางคนฟังแล้วอึ้ง บางคนฟังแล้วทึ่ง แต่ทุกคนตั้งใจฟังต่อ ว่าตันจะขยายความอย่างไร
“วันนี้ธุรกิจแข่งขันกัน แล้วธุรกิจใหม่เกิดขึ้นทุกวัน วิกฤตมาตลอดเป็นระลอกๆ แต่สำหรับผม วิกฤต คือ โอกาส วันนี้น้ำมันขึ้นราคา อะไรขึ้นราคา แต่ว่าผมชอบมากๆ พอน้ำมันขึ้นราคา เงินเดือนขึ้นราคา อะไรขึ้นปุ๊บ จะมีคู่แข่งบางพวกมันตายก่อน โดยที่ผมไม่ต้องทำอะไร พวกไหน นั่นคือ พวกท้อแท้ ยังไม่ทันไรตายแล้ว สู้เขาไม่ได้ ยอมแพ้ไป งั้นผมไม่ต้องสู้ไม่ต้องทำอะไรเลย มันตายก่อนแล้วครึ่งหนึ่ง
การที่น้ำมันจะขึ้น อย่าไปกลัว กลัวอย่างเดียวคือ สิ่งเหล่านั้นเกิดกับเราคนเดียว ถ้าสิ่งเหล่านั้นเกิดกับคนทั่วโลก มันเป็นผลดีกับเรา ถ้าคุณคิดเป็น ยืนยันได้เลย เป็นผลดี ต้นทุนจะเพิ่มเท่าไหร่ ต้นทุนของเราก็จะลดได้จากความกดดัน ผมชอบเลย ปัญหา”
ตันบอกว่า เรื่องต้นทุนขึ้น มันเป็นปัญหาจริง แต่ปัญหาก็เป็นทั้งวิกฤต ถ้าไม่คิด หรือคิดไม่ออกว่า จะต้องทำอะไร และปัญหาก็เป็นทั้งโอกาส ถ้าคิด และคิดออกว่าจะต้องทำอะไร พร้อมยก 3 ประสบการณ์จริงของโออิชิกรุ๊ปเอง ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา
“เมื่อ 2 วันก่อนผมไปประชุมที่บริษัทมา เชื่อไหมว่าน้ำมันแพง ทำให้เราคิด เพราะมันเป็นปัญหา ค่าขนส่งแพงขึ้น โรงงานผมมีรถคอนเทนเนอร์ เทรลเลอร์ 50 คัน คันหนึ่งขนได้ 20 เพลเลต เพลเลตหนึ่งซ้อนได้ 8 ชั้น ชั้นหนึ่งเรียงได้ 8 ลัง ถ้าคิดเป็นลัง ลังหนึ่งค่าขน ส่ง 3 บาท น้ำมันขึ้นกลายเป็น 4 บาท อยู่ไม่ได้แน่ แล้วทำไมเราต้องเรียงแบบนี้ เรียงแบบนี้มาทุกอุตสาหกรรม ทุกโรงงาน เรียงแบบนี้มา 50 ปี
ผมก็ไม่รู้ว่า ทำไมต้องเรียงแบบนี้ ถามผู้จัดการที่โน่นว่า ทำไมต้องเรียงแบบนี้ เขาก็บอกว่าที่นู่น ที่นี่เขาก็เรียงแบบนี้
วันนี้น้ำมันแพงทำอย่างไร เรียงใหม่ได้ไหม เรียงไปเรียงมาได้ 9 ลัง เพิ่มมาได้ 1 ลังต่อชั้น คันหนึ่ง 8 ชั้น 8 ลัง ทั้งหมด 20 พาเลต คุณคูณเข้าไปสิ
เรียงหนักกว่านั้น ทำไมต้อง 8 ชั้น ลองดู 9 ชั้นได้ไหม ได้สิ ถ้าสินค้าเราไม่หนัก ถ้าน้ำหนักไม่เกิน ก็เรียงได้ บังเอิญสินค้าของผมไม่หนัก 9 ชั้นก็เรียงได้ ผมเรียงใหม่ เพิ่มอีก 1 ชั้น น้ำมันขึ้น 3 เท่า ค่าขนส่งผมยังถูกกว่าตอนน้ำมันไม่ขึ้นเลย”
เช่นเดียวกับค่าแรงขึ้น มันเป็นปัญหาแน่ แต่ตันย้ำว่า ถ้านำปัญหามาคิด และคิดออก ก็จะเกิดการพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนค่าแรง และจะกลายเป็นความยั่งยืนของธุรกิจ
“พวกเราอย่าเพิ่งสิ้นหวังนะ ผมเล่าให้ฟังสดๆ ร้อนเลย ตอนนี้ค่าแรงเพิ่ม ทุกอย่างก็เพิ่มขึ้น
สองวันก่อนผมประชุมที่โรงงาน เขาเล่าให้ฟัง ค่าแรงกลับลดไปหลายสิบล้าน เกือบเป็นร้อยล้านบาทด้วยซ้ำไป ที่จะลดได้จากตัวนี้ จากปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หากเราเกิดปัญหา ให้ทุกคนคิดดู ยกตัวอย่างแซนวิช จาก 30 คน ทำ 20,000 ชิ้น เหลือ 10 คนทำ 20,000 ชิ้น ทำแล้ว ท่านบอกว่าขี้โม้ โอ้ย! ทำง่ายมาก ถ้าไม่เชื่อผม ผมจะพาคุณไปชม ถ้าคุณอยากรู้จริงๆ พาไปได้
เดิมทำแซนวิช ทำยังไง คนหนึ่งตัดแซนวิช คนหนึ่งทาเนย พูดสั้นๆให้เห็นภาพนะ อีกคนหนึ่งทาแยม อีกคนใส่ชีส อีกคนใส่แฮม
จริงๆ เนื้องานทั้งหมด คือ ทาเนย ทาแยม แต่ที่เหลือก็คือหยิบขึ้นหยิบลง ๆ สิ่งเหล่านั้นไม่เกิดมูลค่าเพิ่มเลย มีแต่ซ้ำซ้อน
คิดใหม่ คือ คนที่ยกขึ้นมาเนี่ย หยิบแซนวิชขึ้นมา หยิบขนมปังขึ้นมา มันยิ่งกว่านี้อีก เนยกับแยมรวมกันได้ไหม เนยกับมายองเนสรวมกันได้ไหม ก็แปลว่ารวมได้ ผสมกันแล้วเราก็ทาทีเดียว ใส่แฮมแล้วใส่ชีสเข้าไปด้วยได้ไหม ผมว่าเนื้องานที่สูญเสียมันคือ ยกขึ้นยกลงๆ แค่นี้หายไป 20 คน กระบวนการผลิตเท่าเดิม ลดต้นทุนแล้วใช่ไหม
ตอนนี้ต้นทุนมันขึ้น ค่าแรงมันขึ้น น้ำมันมันขึ้น คุณคิดออกไหม คิดไม่ออก พอมีวิกฤตมา ไม่คิดก็เจ๊ง ถ้าคิดไม่ออกก็เจ๊ง ไอ้ที่เราคิดออกมาได้ มันทำให้เราอยู่รอด ทุกอย่างเลย”
ตันยังยกอีกประสบการณ์จริงของโออิชิกรุ๊ปขึ้นมาขยายความในวันนั้น เพื่อชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องต้นทุน แต่อยู่ที่การไม่คิดหรือคิดไม่ออก
“ผมจะยกอีกตัวอย่าง เวลาเราติด label ชาเขียวแต่ละแพ็ค ต้องติดสติ๊กเกอร์ ใช้คนติด 20 คนต่อวัน เราบอกไม่ไหวนะ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
มีคนหนึ่งเสนอมา ต้องให้รางวัลเขาเลย เขาเสนอว่า แล้วทำไมเราต้องติด label เล่า เราก็เอา label ไปพิมพ์ใส่พลาสติกที่แพ็คชาเขียวซิ ตอนนี้ไม่ต้องใช้คนสักคนเดียว แค่คุณคิดนิดเดียว ก็คือ พิมพ์ label ในพลาสติกนั่นแหละ
แล้วทำไมเพิ่งมาคิดได้วันนี้ ก็เพราะวันนี้มีวิกฤต เห็นใช่ไหม ท่านอาจจะดีอยู่แล้วนะท่านอาจได้กำไรแล้ว แต่ถ้าท่านไม่ทำ กำไรมันก็จะลดลงๆ แล้วก็ขาดทุน แล้วก็เจ๊งในที่สุด แต่ท่านทำ ค่าใช้จ่ายมันก็จะลดลง ถ้าท่านแข่งกับใคร ค่าเช่าจะเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ท่านก็มีทางออก เราต้องไม่ยอมแพ้ จงเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี
มีหลายอย่างในธุรกิจของเรา เราไม่ได้ไปสำรวจ เพราะเราเคยชิน บางอย่างเราไม่น่าจะทำ เราก็ทำ ไอ้ที่ว่าดีที่เราทำอยู่ ดีของเมื่อวาน วันนี้อาจจะไม่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ท่านสำรวจ
ผมพูดเสมอว่า จากนี้ไปไม่มีอะไรไม่แพงเลย อย่ารอน้ำมันลด อย่ารอเศรษฐกิจดีเด็ดขาด ไม่มีแล้ว โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
คนที่อยู่รอดคือ คนที่เปลี่ยนแปลงแล้วก็แข็งแกร่งเท่านั้น คนที่ตายไปคือ คนที่อยู่เหมือนเดิมแล้วก็อ่อนแอ ยอมแพ้ เพราะฉะนั้น คุณจะอยู่ได้หรือไม่ น้ำมันขึ้น ข้าวขึ้น กลับกันราคาขายบางอย่างอาจจะลดด้วยซ้ำ พืชเกษตรอะไรพวกนี้อาจจะขึ้น ของที่ท่านขายบางส่วน ท่านเชื่อไหมว่าอาจต้องลดราคา
ยกตัวอย่างว่า วันนี้ผมจะขึ้นราคาชาเขียว มีโอกาสไหม ไม่ต้องคิดเลย ไม่ลดราคาก็บุญแล้ว เหมือนกับท่านขายสินค้าอยู่ ยกเว้นสินค้าของท่านอยู่ในเทรนด์ที่สามารถขึ้นราคาได้ แต่ก็อย่าดีใจนะ วันนี้ข้าวแพงเป็น 1,200 เหรียญต่อตัน เดี๋ยวมันก็อาจลดลงมา แต่ถ้าท่านสามารถลดราคา หรือลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสินค้าของท่านให้มันทันต่อเหตุการณ์ ท่านจะอยู่ได้”
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อคิดที่สังเคราะห์จากประสบการณ์จริงของตัวจริง “ตัน โออิชิ”
มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้ประกอบการยุคนี้ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาต้นทุนแพง
*****************************
เทคนิคกู้แบงก์
ท่านถามผมว่า การเปลี่ยนธุรกิจไปทำแนวอื่นๆ ถ้าเราต้องใช้เงินจากแบงก์ บางทีแบงก์ก็ไม่ค่อย Support เราเท่าไหร่ จะทำอย่างไรดี
“แบงก์นะ ไม่สนใจธุรกิจหรอก แบงก์สนใจดอกเบี้ย การทำให้แบงก์เชื่อได้ อันนั้นสำคัญกว่า ธุรกิจไม่เกี่ยว ถ้าผมเป็นแบงก์ ผมก็จะถามคุณว่า คุณจะมีความสามารถจ่ายดอกเบี้ยผมได้อย่างไร
ถ้าเป็นเรื่องเปลี่ยนธุรกิจ ผมเปลี่ยนธุรกิจตลอดชีวิต ตั้งแต่วันแรกที่ผมทำมาถึงวันนี้เปลี่ยนหมดเลย เพียงแต่เราสามารถ Present ให้แบงก์เห็นไหมว่าเราดี เราทำได้ นั่นคือ ส่วนหนึ่งต้องมาจากประสบการณ์ ข้อมูล ความสามารถส่วนตัว เน้นมากๆ คือ ประสบการณ์”
******************************
อย่าลงทุนกับสินค้าอินเทรนด์
“ท่านถามผมว่า คุณตันรู้ได้อย่างไรว่า อะไรน่าลงทุน อย่างกาแฟสดใส่ขวด (Coffio ที่โออิชิเพิ่งเปิดตัว) คุณตันไม่เคยทำ แล้วคุณตันรู้ได้อย่างไรว่า น่าลงทุน น่าเสี่ยง ทั้งๆที่คู่แข่งเยอะ
เวลามองธุรกิจต้องมีการเรียนรู้ คือผมจะมองสิ่งไหน สินค้าไหนกำลังอินเทรนด์ อย่าแห่ทำตาม เพราะแสดงว่าสิ่งนั้นกำลังจะ Out เราต้องเดินก่อนคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ อันนี้คือ สำคัญมาก
แต่การจะเดินก่อนหน้าคนอื่นหนึ่งก้าวจะรู้ได้อย่างไร อันนี้สิยาก พูดง่ายทำยาก เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้อย่างไร เราต้องเป็นคนที่หมั่นเรียนรู้ หมั่นดู จับตลาดให้เห็น แล้วก็ดูเวลาและโอกาสให้เหมาะสม
ผมยกตัวอย่าง ทำไมน่าทำ คือว่า กาแฟไทยในตลาดประมาณ 20,000 กว่าล้าน กาแฟสด 80% อินสแตนท์อีก 20% กาแฟทั้ง 2 อย่างมันมีความแตกต่างกัน ทั้งความหอมหวานต่างกัน
เมื่อไหร่ที่คุณหันมากินสตาร์บัคส์ แล้วคุณกลับไปกินอินสแตนท์ไม่ได้แน่ เพราะฉะนั้นกาแฟสดใส่ขวดคือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่อุปสรรคเต็มไปหมดเลย
ถามว่าเกิดไหม ยาก แต่ตลาดมาไหม ตลาดมาแน่ๆ แต่ผมอาจจะมาเร็วนิดนึง ก็จะมีความเสี่ยงนิดนึง ถ้าคุณเพิ่งจะเริ่มมาทำตอนที่ตลาดมา กำลังอินเทรนด์ มันก็ช้าไปแล้ว เพราะมันมาแล้ว มันก็จะ Out”
***************************************
คิดไม่เป็น...เจ๊งแน่
“พูดถึงธุรกิจร้านถ่ายรูปแต่งงาน ผมอยากจะยกตัวอย่างของคนทำธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลง
มีอยู่คนหนึ่งเขาบอกผมว่า เนี่ยคุณตัน หนูจะเปิดร้านที่โคราชนะ 4 ห้อง ตกแต่ง 4 ชั้น
ผมถามว่าทำไมต้อง 4 ห้อง
เขาตอบว่าแม่หนูมี 4 ห้อง ห้องแถว
แล้วถ้ามีหนูมี 10 ห้อง หนูไม่ต้องไปแต่งทั้ง 10 ห้องหรอกหรือ ผมถามว่า คุณคาดว่ายอดขายเท่าไหร่
ถ้าได้ล้านบาท หนูว่าก็เลิศแล้ว
ล้านนึงห้องเดียวก็พอแล้ว หนูรู้ไหมว่า 4 ห้อง 4 ชั้น ต้องใช้เงินตกแต่งสักกี่ล้าน แต่ยอดขายคุณบอกว่าแค่ล้านเดียว จริงๆ ห้องๆ เดียวถ่ายรูปแต่งงานเนี่ย ยอดขายต้องอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท หรือล้านนึงก็ไม่ควรต่ำกว่านั้น เป้าหมายอยู่ที่ล้านนึง ก็ไม่ควรเกินนั้น เต็มที่ 2 ห้อง แต่งแค่ชั้นเดียวก็พอแล้วนะ เล่นเอา 4 ห้อง 4 ชั้น โห! ดีนะที่ผมเบรคเขาทัน เพราะอะไร เขายึดสิ่งที่เขามี แม่มีตังค์ทำไปเหอะ แต่มันไม่เกิดประโยชน์อะไร
แล้วมี 4 ชั้น อะไรรู้ไหม ดูแบบแล้ว โห! ข้างบนมีห้องผู้จัดการ ห้องผู้จัดการมีโต๊ะ โซฟา
เชื่อไหมอีกหน่อย พนักงานจะอยู่แต่ข้างบนจะหลับกันหมดเลย ไม่มีใครอยู่ข้างล่าง”
********************************************
โลกเปลี่ยน...ต้องคิดใหม่
“วันนี้ธุรกิจเปลี่ยนแล้วนะ
ยกตัวอย่างคุณขายกุ้ง คุณอย่าเอากุ้งมาขายผม ขายไม่ได้หรอก ผมไม่มีนโยบายนะครับว่า ถ้าคุณขายกุ้งถูกกว่าเจ้าที่ผมซื้อ ผมจะซื้อคุณ ไม่ใช่นะครับ
คุณเสนอราคาถูกกว่า ผมก็จะไปบอกเจ้าที่ผมซื้ออยู่ นาย ก. ขาย 50 คุณขาย 51 คุณลดได้ไหม เขาก็ลด คุณก็ขายไม่ได้
แต่ถ้าคุณเสนอกุ้ง พร้อมสูตรอาหารที่ผมกินแล้ว โห! อร่อยมาก ถ้าผมมาใส่ในไส้เกี๊ยวซ่าผมเนี่ย ผมรวยแน่ งั้นที่ผมต้องการไม่ใช่กุ้ง ผมอยากได้สูตรพร้อมกุ้งต่างหาก ครั้นผมจะเอาแต่สูตรอย่างเดียว มันก็ไม่ได้หรอกนะ ผมก็ต้องซื้อกุ้งเพื่อเอาสูตรกุ้ง
ฉะนั้น วันนี้คุณต้องเปลี่ยนความคิดแล้วนะว่า คุณจะขายอะไร อย่าขายเหมือนเดิมๆ ที่คุณเคยขายอยู่ ขายมา 50 ปี ก็ยังจะขายอีก ไม่ใช่นะครับ
วันนี้ขายของต้องคิดธุรกิจให้เขาด้วย”
******************************
ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 69 ประจำเดือนกรกฎาคม 2551